top of page

“เสริมศักดิ์” เล็งตั้งอาชีวะ 1 แห่ง 1 อำเภอ รองรับเปิดเออีซี / แผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
12 November 2555- 00:00 


“เสริมศักดิ์” เล็งตั้งวิทยาลัยอาชีวะ 1 แห่งต่อ 1 อำเภอ เริ่มงบปี 56 ชี้รองรับเปิดเออีซี และสอดคล้องแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ของประเทศ ส่วนประกาศรับนักเรียนปีการศึกษา 2556 ของ สพฐ. ที่เปิดช่องรับนักเรียนขึ้น ม.4 ไม่อั้น แก้ไม่ได้แล้วปี 57 ค่อยว่ากันใหม่
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) เปิดเผยว่า ถึงกรณีที่มีนักวิชาการเสนอให้นายเสริมศักดิ์ในฐานะที่ดูแลหน่วยงานราชการ ทั้งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) ให้เดินหน้าตามแผนการผลิตกำลังตามสัดส่วนที่กำหนดไว้ โดยภารกิจแรกต้องไป คือ การแก้ประกาศรับนักเรียนขึ้นชั้น ม.4 ประจำปีการศึกษา 2556 ของ สพฐ. เพราะมีนโยบายรับนักเรียนขึ้นชั้น ม.4 มากขึ้น ทำให้นักเรียนไม่ตัดสินใจมาเรียนสายอาชีวศึกษามากขึ้นนั้น ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว เพราะการผลิตกำลังคนให้สนองต่อตลาดแรงงานเป็นนโยบายของรัฐบาลและเป็นแผนแม่บทของประเทศ แต่เมื่อมีการประกาศนโยบายการรับนักเรียนปีการศึกษา 2556 ไปแล้ว คงไม่สามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่ก็จะพิจารณาในการรับนักเรียนปีการศึกษา 2557 ต่อไป


รมช.ศธ.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ จากการหารือกับนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ถึงการผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) และรองรับการเปิดประชาคมอาเซียน หรือเออีซี ในปี พ.ศ.2558 ซึ่งในแผนพัฒนาฯ กำหนดว่าภายในปี พ.ศ.2559 จะต้องมีสัดส่วนของผู้เรียนสายอาชีวศึกษาต่อสายสามัญศึกษาเป็น 70:30 แต่ยังไม่สามารถปฏิบัติได้ตามแผนดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ตนได้มอบนโยบายให้ สอศ.ไปดูเรื่องการจัดตั้งวิทยาลัยอาชีวศึกษาในอำเภอที่ยังไม่มีสถานศึกษาที่สอนอาชีวศึกษาตั้งอยู่ โดยต่อไปอาจมีการจัดตั้งวิทยาลัยอาชีวศึกษาในอำเภอใหญ่ๆ หรือในอำเภอเล็กๆ 3-4 แห่งต้องมีวิทยาลัยอาชีวศึกษาไปตั้ง 1 แห่ง เพื่อความสะดวกในการเดินทางของเด็ก โดยให้เริ่มในปีงบประมาณ 2556 เลย โดยอาจนำร่องในบางแห่งก่อน



“เมื่อมีการเปิดเออีซีจะมีประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาตั้งโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งความต้องการแรงงานก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นเราต้องปรับตัวและวางแผนการผลิตกำลังคนให้เพียงพอต่อความต้องการ เบื้องต้นก็ต้องดูสาขาวิชาที่จะเปิดสอนด้วย ขณะเดียวกันต้องดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนในการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีให้มากขึ้น โดยอาจจะมีการให้ทุนการศึกษาให้ฝึกปฏิบัติงาน และเมื่อเรียนจบก็รับเข้าทำงานทันที ซึ่งเป็นการให้โอกาสเด็กได้เรียนพร้อมกับมีงานทำ เนื่องจากเด็กอาชีวะส่วนใหญ่จะมีฐานะยากจน อย่างไรก็ตาม หากมีวิทยาลัยอาชีวศึกษากระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ ก็เชื่อว่าจะทำให้มีผู้เรียนสายอาชีวศึกษาเพิ่มมากขึ้น” นายเสริมศักดิ์กล่าว.


ดีเอสไอ” แจงสอบทุจริตครุภัณฑ์-โยงคนปชช
วันจันทร์ที่ 12 พฤษศจิยน 255 17:58 น.


วันนี้ ( 12 พ.ย. )  ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)  นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอ   แถลงผลสรุปเบื้องต้นคดีทุจริตโครงการจัดซื้อครุภัณฑ์อาชีวศึกษา (เอสพี 2 ) ภายใต้โครงการแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง ในวงเงินงบประมาณ 5,300 ล้านบาท ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ว่า  ผลสอบสวนพบมีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตจำนวน 4 ราย ประกอบด้วย นายชินวรณ์  บุญยเกียรติ  อดีตรมว.ศึกษาธิการ  น.ส.นริศรา   ชวาลตันพิพัทธ์  อดีตรมช.ศึกษาธิการ  นายเจี่ยง  วงศ์สวัสดิ์สุริยะ ผอ.สำนักนโยบายและแผนการอาชีวศึกษา และนายบำรุง อร่ามเรือง ผอ.วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา  ซึ่งทั้งหมดร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริต ทำให้สอศ.  กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับความเสียหาย  โดยพบมี 5 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย 1. การแต่งตั้งบุคคลใกล้ชิดหรือพวกพ้องของรัฐมนตรีเป็นคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ในการจัดหาครุภัณฑ์ ให้เป็นไปตามความต้องการของตนเอง โดยเฉพาะนายบำรุง อร่ามศรี 2.การจัดซื้อครุภัณฑ์ ที่มีราคาแพงเกินความจริง เช่น ครุภัณฑ์ห้องปฏิบัติการไฟฟ้าพื้นฐาน ราคาประมาณเพียงชุดละ 1ล้านบาท แต่ตั้งราคาสูงถึง 3 ล้านบาทและจัดซื้อ 19 ชุด เป็นเงินกว่า 57 ล้านบาท ผู้ขายมีกำไรกว่า 38  ล้านบาท ซึ่งครุภัณฑ์ที่จัดสรรให้วิทยาลัยไม่มีคุณภาพ และไม่เกิดประโยชน์ต่อการเรียนการสอน 3. การจัดซื้อก็ไม่ได้สำรวจความต้องการครุภัณฑ์ของสถานศึกษาที่มีความจำเป็นต้องใช้ในการเรียนการสอน  แต่กลับจัดครุภัณฑ์ให้กับสถานศึกษาโดยที่สถานศึกษาไม่มีส่วนร่วมในการกำหนดสเปค และไม่ตรงกับวิชาการเรียนการสอน  อีกทั้งยังไม่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับครุภัณฑ์นั้น  4.ผู้ประกอบการหรือผู้ขายสินค้าครุภัณฑ์ให้กับ สอศ. อยู่ที่ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนเป็นผู้กำหนดเท่านั้น อันเป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์แก่คู่สัญญารายใดรายหนึ่ง โดยมุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม และ5. การตรวจรับครุภัณฑ์ ไม่ตรงตามสเปคหรือสัญญาซื้อขาย เช่น จุดเชื่อมวงจรไฟฟ้า ตามสเปคหรือสัญญากำหนดไว้เป็นทองคำแท้ เพื่อให้ครุภัณฑ์มีราคาสูงแต่จากการตรวจสอบพบว่าเป็นทองชุบเท่านั้น เหตุเกิดที่วิทยาลัยการอาชีพบ้านผือ จ.อุดรธานี และที่วิทยาลัยเทคนิคปราจีนบุรี



นายธาริต กล่าวอีกว่า  จากการสอบสวน ปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวข้างต้น  เป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายมีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ที่เกี่ยวข้อง แต่จงใจฝ่าฝืนกฎหมายตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ  และ กระทำผิดทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ  ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 รวมทั้งผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ และไม่ยึดหลักธรรมาภิบาลในการจัดซื้อจัดจ้าง  ดีเอสไอจึงต้องส่งสำนวนคดีนี้ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  เพื่อไต่สวนต่อไป”



“ดีเอสไอส่งสำนวนให้ป.ป.ช. แล้ว แต่ตามพ.ร.บ. การสอบสวนคดีพิเศษฉบับแก้ไขเพิ่มเติมได้กำหนดให้ดีเอสไอยังสามารถสอบสวนต่อไปอีกได้  จนกว่า ป.ป.ช. จะมีมติอย่างอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนั้นจึงต้องสอบขยายผลไปยังบุคคลอื่นๆที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เบื้องต้นพบว่า 4 คนที่ปรากฏรายชื่อถือเป็นหัวขบวนสำคัญ จึงต้องเชิญตัวให้ปากคำในฐานะผู้ถูกกล่าวหาในวันที่ 15 พ.ย.นี้ โดยดีเอสไอทำหนังสือแจ้งเจ้าตัวให้รับทราบแล้ว แต่ยังไม่ได้รับคำตอบว่าจะมาหรือไม่” นายธาริต กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีความเชื่อมโยงถึงน.ส.ศศิธารา  พิชัยชาญรณรงค์   ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะอดีตเลขาธิการ สอศ. หรือไม่นั้น  เบื้องต้นดีเอสไอยังกันไว้พยาน เนื่องจากก่อนหน้านี้น.ส.ศศิธารา ได้ทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมพร้อมให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการสืบสวน ซึ่งดีเอสไอยังไม่ได้ตัดประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของผู้ใด  รวมถึงไม่ตัดสิทธิ์ที่ป.ป.ช.จะไต่สวนขยายผลไปยังบุคคลอื่นเพิ่มเติมด้วย.

     จากข่าวทั้ง 2 ข่าว เป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ข่าวแรกเป็นข่าวเปิดรับนักเรียนของโรงเรียนอาชีวะศึกษา มีการนำเสนอให้จัดตั้งโรงเรียนอาชีวะใน 1อำเภอ เพื่อตอบรับการเปิดเออีซี เป็นแผนพัฒนาการศึกษาของเด็กไทยในระยะยาว ข่าวที่ 2 เป็นข่าวเกี่ยวกับคดีทุจริตครุภัณฑ์ ที่มีวงเงินการพัฒนาการศึกษาในอาชีวะศึกษาถึง 5000 ล้านบาท แต่ก็พบผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต ทั้งหมด 4 ราย และมีความเสียหาย 5 กรณี ส่งผลทำให้ดีเอสไอต้องเข้ามาตรวจสอบความถูกต้อง
     ความเชื่อมโยงของทั้ง 2 ข่าว คือเกิดขึ้นในวันเดียวกัน ข่าวแรกเป็นข่าวการพัฒนาการศึกษาของโรงเรียนอาชีวะ แต่ข่าวที่ 2 เป็นข่าวทุจริตครุภัณฑ์ของโรงเรียนอาชีวะ ดังนั้นควรจะสอบสวนและแก้ไขข่าวการทุจริตให้เสร็จสิ้นเสียก่อน หาคนทุจริตมารับผิดชอบแล้วจะพัฒนาโครงการอะไรก็ค่อยว่ากันต่อไป

bottom of page